คอลัมน์: C..Square: วิถีมอญ...ในพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระศพฯSource - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)
Thursday, October 16, 2008 07:4111389 XTHAI XGEN XETHIC XENT IKEY V%NETNEWS P%WKT
ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง ภาพ: นันทสิทธิ นิตย์เมธา
งานพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตามธรรมเนียมแบบมอญ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการร้อยดวงใจชาวไทยเชื้อสายมอญทั่วทุกสารทิศ ร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว ยังถือเป็นงานมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่ ที่สืบสานจารีตประเพณีแบบมอญ มรดกทางวัฒนธรรม และคติความเชื่อของ "ชาวมอญ" จากรุ่นสู่รุ่น บริเวณลานพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในวันนั้น เนืองแน่นด้วยชาวไทยเชื้อสายมอญจากทั่วประเทศกว่า 3,000 คน ไม่ว่าจะเป็นมอญปากเกร็ด มอญบางกระดี่ อยุธยา สมุทรสาคร ราชบุรี นครสวรรค์ ฯลฯ ที่มาร่วมกันในงานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัดโดยชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ และชาวไทยเชื้อสายมอญ โดยมีตัวแทนชาวไทยเชื้อสายมอญ จากราชสกุล "กฤดากร" ม.ร.ว.ยงสวาสดิ์ กฤดากร, ม.ร.ว.สมชนก กฤดากร และ ท่านผู้หญิงบุตร วีระไวทยะ ร่วมเป็นประธานในพิธี นอกจากเหล่าสตรีเชื้อสายมอญทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ที่พากันแต่งกายตามแบบมอญ เกล้าผมมวย พาดผ้าสไบมอญ บ้างก็กลัดเข็มกลัดรูปหงส์บนอกเสื้อ มาร่วมในงานอย่างคับคั่งแล้ว ยังมีตัวแทนมอญสังขละบุรีที่พากันแต่งกายในชุดสีแดงอันเป็นชุดประจำชาติมอญ มาร่วมในงานด้วย เนื่องจากชาวมอญถือว่างานศพเป็นงานมงคลเพื่อร่วมส่งวิญญาณผู้ล่วงลับไปสู่สรวงสวรรค์ งานพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ครั้งนี้ นอกจากจะมีการสวดพระพุทธมนต์มอญ การแสดงพระธรรมเทศนามอญ การถวายจตุปัจจัยไทยธรรมพระสงฆ์แล้ว ยังมีพิธีกรรมสำคัญซึ่งชาวไทยเชื้อสายมอญได้ร่วมกันสร้างพระพุธรูปศิลปะมอญอุทิศถวาย และได้จัดพิธีสมโภชพระพุทธรูปตามธรรมเนียมมอญ หรือที่ชาวมอญเรียกกันว่าพิธี "เทาะอะโย่งกย้าจก์" คนมอญตั้งแต่โบราณนิยมสร้างพระพุทธรูปเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ผู้ล่วงลับโดยการประกอบพิธีกรรมเพื่อสมโภชพระพุทธรูปของชาวมอญนั้นจะแฝงความหมายถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ซึ่งเปรียบเหมือนการบังเกิดขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งแรกบนโลก โดยพระสงฆ์จะสวดบท "อเนกะชา" และประธานในพิธีและผู้ร่วมบำเพ็ญกุศลที่นั่งล้อมรอบถาดใบใหญ่ที่มีน้ำขมิ้นผสมปูนอันมีความหมายถึงแม่น้ำเนรัญชรา จะทิ้งเหรียญกษาปณ์กับใบโพธิ์ที่ผูกด้วยหญ้าแพรกทีละชุดจนครบทั้งหมดจำนวน 7 ชุด โดยเหรียญที่กระทบถาดส่งเสียงดังเป็นการระลึกถึงถาดทองที่พระพุทธเจ้าทรงลอยลงในแม่น้ำเนรัญชรา หลังจากเสวยมธุปายาสที่นางสุชาดานำมาถวายแล้ว ในพิธีสมโภชพระพุทธรูปแบบมอญ เพื่อบำเพ็ญกุศลถวายพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ครั้งนี้ยังมีการจำลองวิหารเชตะวัน ซึ่งเป็นบ้านหรือปราสาทแบบมอญ ประดับตกแต่งลวดลายอย่างงดงาม นอกจากนี้ยังมีพิธีถวายไทยทานและกรวดน้ำโดยในโอกาสสำคัญนี้ ชายไทยเชื้อสายมอญได้จัดทำผอบมอญที่ใช้ถวายไทยทานตามธรรมเนียมมอญ หรือที่เรียกว่า "ฮะอุบ" จำนวน 50 ชุด สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษจากเมืองมอญในพม่า เพื่อถวายแด่พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ที่นิมนต์จากวัดมอญในเมืองไทย และที่ขาดไม่ได้ ในประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของการจัดพิธีศพแบบมอญ นั่นคือ "มอญร้องไห้" โดยคณะมอญร้องไห้อยุธยา ถวายคำพรรณนาสดุดีพระเกียรติคุณประกอบการบรรเลงปี่พาทย์มอญ เพื่อถวายความอาลัยและน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย มอญร้องไห้เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวมอญ ซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในงานศพ เป็นการแสดงความอาลัยรักของลูกหลานต่อผู้ตาย อีกทั้งยังเป็นการรำพันคุณงามความดีของผู้ตายที่กระทำไว้เมื่อครั้งยังมีลมหายใจ ผู้ร้องจะใช้ปฏิภาณกวีโดยเนื้อหาที่ร้องนั้นไม่ตายตัว และเป็นภาษามอญ งานนี้ยังมีพิธีกรรมสำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญอีกพิธีหนึ่งนั่นคือพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ หรือพิธี "รำสามถาด" ซึ่งเรียกขานภาษามอญว่า "เละ ป้อย ทะห์" จัดขึ้นตามธรรมเนียมมอญโบราณ โดยปี่พาทย์มอญวงใหญ่ด้านข้างพระที่นั่งดุสิตฯ บรรเลงเพลงมอญเพื่ออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีผู้รำทั้งหมด 3 คน พร้อมถาดเครื่องสังเวยและเครื่องประกอบการรำ 4 อย่าง ได้แก่ ใบไม้ (ใบหว้า หรือใบกระดูกขาไก่) 2 กำ กระสวยทอผ้าและไม้อย่างละอัน มีดดาบ 2 เล่ม และสุราขาว 2 ขวด การรำบวงสรวงถาดที่หนึ่ง เป็นการบอกกล่าวและถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเทวดา และพระสยามเทวาธิราช การรำบวงสรวงถาดที่สองเป็นการรำถวายองค์พระบูรพมหากษัตริยาธิราช และวีรชนผู้ทำประโยชน์ต่อบ้านเมืองและการรำบวงสรวงถาดที่สาม เพื่อถวายราชสักการะแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และเป็นการอัญเชิญดวงพระวิญญาณเสด็จสู่สรวงสวรรค์ พิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระศพแบบมอญในวันนั้นปิดท้ายด้วยนาฎศิลป์ชั้นสูงของชาวมอญ โดยคณะมอญรำเกาะเกร็ดหลากหลายวัยกว่า 50 ชีวิต แต่งกายนุ่งผ้าซิ่นกรอมเท้า เสื้อแขนกระบอกเข้ารูปรัดเอว พาดผ้าสไบ และเกล้าผมมวยแบบมอญ ร่วมน้อยใจรำบวงสรวงถวายแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นำโดย "ป้าปรุง" มะลิ วงศ์จำนงค์ ครูสอนรำมอญรุ่นอาวุโสวัย 81 ปี "รำมอญดั้งเดิมของเกาะเกร็ดจะมีด้วยกันทั้งหมด 12 ท่า ที่คนมารำวันนี้มาด้วยใจ มีทั้งเด็กสาว ผู้ใหญ่ ใครที่อยากจะมารำถวายสมเด็จพระพี่นางฯ ก็จะพร้อมใจกันมา นอกจากลูกหลานชาวมอญแล้วก็ยังมีอาจารย์จากศิลปากร ที่มาเรียนการรำมอญกับป้า ก็มาร่วมรำด้วย" ป้าปรุงเล่าด้วยสีหน้าอิ่มเอิบ งานพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตามธรรมเนียมแบบมอญครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ เคยเป็นเจ้าภาพพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระศพฯ ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ งานพระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และงานพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี หมายเหตุ: ประมวลข้อมูลจากคณะกรรมการจัดงานพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พิศาล บุญผูก ผู้เชี่ยวชาญด้านมอญ, ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ เว็บไซต์ http://www.monstudies.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น