ในอ้อมกอด "โรงงานหลวง"Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)
Friday, January 23, 2009 07:4944735 XTHAI XGEN XETHIC XENT IKEY V%NETNEWS P%WKT
ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 มีมิติใหม่ที่น่าสนใจของการพัฒนาหลายด้าน โดยนำเอาแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเอยู่หัว การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมีราษฎรเป็นศูนย์กลาง โรงงานแห่งใหม่ ยังสร้างขึ้นด้วยแนวคิดโรงงานสีเขียว เพื่อเป็นแบบอย่างของการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ในวิกฤติย่อมมีโอกาส เช่นเดียวกับโอกาสใหม่ ที่ผลิบานขึ้นอีกครั้ง ในชุมชนหมู่บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วันนี้ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) โรงงานหลวงแห่งแรก ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยและโคลนถล่ม เมื่อเดือนตุลาคม 2549 ได้รับการพลิกฟื้นให้กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ตามพระราชดำริที่ให้พัฒนาพื้นที่เดิมที่ได้รับความเสียหาย ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต (living SITE Museum) นำเสนอองค์ความรู้ผ่านนิทรรศการวัตถุสะสม หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในชุมชน เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ควบคู่กับ "โรงงานสีเขียว" ที่สร้างขึ้นใหม่ โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา หลังจากทรงตีกังสดาล เพื่อเป็นสัญญาณเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์ ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ และมีพระราชดำรัสถึงรายละเอียดสิ่งของและวัตถุสะสมต่างๆ ด้วยความสนพระราชหฤทัย อาทิ รถยนต์คันเก่าแก่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ม.จ.ภีศเดช รัชนี สำหรับใช้ปฏิบัติงานของโครงการหลวง, นิทรรศการผลงานภาพถ่ายของชำนิ ทิพย์มณี และนพดล ขาวสำอางค์, เครื่องจักรดั้งเดิมที่หลงเหลือจากการกู้ซาก หลังประสบอุทกภัย ในการนี้ ยังได้ทอดพระเนตรอากงวาดรูป และการแสดงดนตรีโดยอากงอีกท่านหนึ่งเป็นผู้สีซอถวาย ในท่วงทำนองเพลงจีนโบราณ ทรงรับสั่งโต้ตอบภาษาจีน พร้อมขอโน้ตเพลงจากอากงไว้เป็นที่ระลึกด้วย และที่นำความซาบซึ้งแก่คณะบุคคลที่ร่วมเฝ้ารับเสด็จ ระหว่างที่ทรงพระดำเนินถึง "บ้านดินจำลอง" ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อจำลองวิถีชีวิตที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวจีนในบ้านยาง สมเด็จพระเทพฯ ทรงรับสั่งกับคนงานของโรงงานหลวง ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เศร้าเสียใจอยู่ในภาพยนตร์รำลึกเหตุการณ์น้ำป่า ที่จัดฉายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ด้วยว่า "ไม่เป็นไร ฉันสร้างโรงงานใหม่ให้แล้ว ไม่ต้องเสียใจ" โอกาสนี้ ยังประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯ ทอดพระเนตรแปลงปลูกสตรอว์เบอร์รี่ปลอดสารพิษของเกษตรกร ที่เข้าร่วมในโครงการ และเสวยสตรอว์เบอร์รี่สีแดงสดที่เด็ดมาจากในแปลงด้วย ทรงรับสั่งกับเกษตรกรว่า สร้างโรงงานใหม่ให้แล้ว ให้ช่วยกันปลูกสตรอว์เบอร์รี่ส่งมาขาย ในวันเสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 วันนั้น นำความปิติแก่ชาวชุมชนบ้านยางอีกครั้ง เพราะนอกจากโรงงานสีเขียวแห่งใหม่แล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์แหล่งการเรียนรู้ ที่สร้างโอกาสและการมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้แนวคิด "ความพอเพียง เรียบง่ายเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและกลิ่นอายของโรงงานหลวง" พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้ากองงานความร่วมมือภายนอก 2 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในฐานะกรรมการ และเลขานุการ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด หัวเรือใหญ่งานนี้ เล่าว่าโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) นับเป็นโรงงานหลวงแห่งแรก ที่เริ่มต้นจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2515 เพื่อรองรับผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ โรงงานที่นี่ จะทำหน้าที่ผลิตสินค้าแปรรูปเกษตรบรรจุกระป๋อง อาทิ ลำไย ลิ้นจี่กระป๋อง รวมทั้งลูกพีชในน้ำเชื่อมบรรจุขวดซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่รับสั่งให้ริเริ่มบรรจุสินค้าในขวดแก้ว เพราะเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นศูนย์ผลิตแยมผลไม้ บ๊วย และสตรอว์เบอร์รี่แช่แข็ง และน้ำดื่มภายใต้เครื่องหมายตราสินค้า "ดอยคำ" "พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 มีมิติใหม่ที่น่าสนใจของการพัฒนาหลายด้าน โดยนำเอาแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีราษฎรเป็นศูนย์กลาง โรงงานแห่งใหม่ ยังสร้างขึ้นด้วยแนวคิดโรงงานสีเขียว เพื่อเป็นแบบอย่างของการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การวัสดุก่อสร้างที่ประหยัดพลังงาน ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด" พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) เปิดต้อนรับให้ผู้สนใจเดินทางเข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์ถูกออกแบบและจัดแสดงไว้ได้อย่างน่าสนใจ การันตีโดยฝีมือกูรูพิพิธภัณฑ์เมืองไทย เกล้ามาศ ยิบอินซอย ประธานกรรมการ มูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ ที่เคยร่วมปรับปรุงพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ร่วมด้วยมือดีอีกหลายแวดวงอาทิ บริษัท อินทีเรีย อาร์คิเทกเชอร์ 103, รักลูกกรุ๊ป ที่ตั้งใจอย่างมากให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ จากชุมชนที่อยู่โดยรอบ สร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับผู้มาเยี่ยมเยือนท่ามกลางอ้อมกอดของโรงงานหลวงที่ซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ หลังเขาแห่งนี้ ผู้สนใจสามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.firstroyalfanctory.org
บรรยายใต้ภาพ ทอดพระเนตรแปลงปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ปลอดสารพิษของเกษตรกร ทอดพระเนตรอากงวาดรูป และการแสดงดนตรีสีซอถวาย พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กราบบังคมทูลรายงานตลอดเส้นทางพระดำเนิน รถยนต์คันเก่าแก่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ใช้ในกิจการโครงการหลวง--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น